เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2568 เวลา 09.00 น.ผศ.ดร.วิชิต กำมันตะคุณ รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด เป็นประธานเปิดตัวโครงการพัฒนาโมเดลแก้จนด้วยเกษตรมูลค่าสูงเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน จังหวัดร้อยเอ็ด ประจำปี พ.ศ. 2567 เพื่อนำเสนอผลการดำเนินงาน ภายใต้โครงการพัฒนาโมเดลแก้จนด้วยเกษตรมูลค่าสูงเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนจังหวัดร้อยเอ็ด ประจำปี พ.ศ.2567ภายใต้กรอบการวิจัย “การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อยกระดับแพลตฟอร์มขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำระดับจังหวัด” ณ แปลงผักบ้านเขวาตะคลอง หมู่ 3 ตำบลทุ่งทอง อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด
โดยมีหัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หัวหน้าส่วนราชการอำเภอเกษตรวิสัย ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น และเกษตรกรชาวตำบลทุ่งทอง และผู้ท่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก
ผศ.ดร.วิชิต กำมันตะคุณ รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น เรามุ่งเน้นในด้านของการสร้างนวัตกรรมโดยใช้กระบวนการการวิจัยในด้านของการสร้างนวัตกรรมแล้วนำนวัตกรรมไปใช้ในชุมชนในโครงการการแก้ปัญหาความยากจนตรงนี้ ได้งบประมาณมาจากสำนักสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ ( บพท.)แล้วได้รับโจทย์จาก บพท. ว่าเราจะสามารถยกระดับความยากจนของชุมชนอย่างไร การลงพื้นที่ได้ลงพื้นที่อำเภอเกษตรวิสัยและหนึ่งในวันนี้เราก็ได้นำทีมวิจัย นำโดย ผศ.ดร.ศรีสุนันท์ ประเสริฐสังข์ ผศ.ดร.ชัญญรินทร์ สมพร หัวหน้าโครงการวิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด นำทีมวิจัยพร้อมด้วยนักศึกษาได้นำเอาองค์ความรู้มาถ่ายทอดให้กับชุมชนในด้านการปลูกผัก ผักที่เราปลูกนั้นจะเป็นผักสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปีโดยใช้องค์ความรู้ต่างๆมาช่วยชาวบ้าน เราจะเห็นว่าความร่วมมือในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากนายอำเภอเกษตรวิสัย ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ทีมเกษตรกรที่จะเข้ามาร่วมในด้านของการถ่ายทอดเทคโนโลยี กับทางมหาวิทยาลัยถือว่ามีความเข้มแข็งมาก จะเห็นว่าผลิตภัณฑ์ที่ออกมาเพื่อที่จะจำหน่ายในครั้งนี้ทำให้เกิดรายได้ขึ้นมากมาย ทั้งรายได้ของผู้ที่ปลูกผัก รายได้สู่ชุมชน และเกิดอาชีพขึ้นมาอีก 1 อาชีพก็คือกลุ่มพ่อค้าหรือเราเรียกว่ารถซาเล้งพ่วง ในด้านของการมารับผักไปส่งขายให้กับชุมชน เกิดการหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง
ผศ.ดร.วิชิตฯ กล่าวอีกว่า ในวันนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด มีความรู้สึกยินดีมากที่เห็นรอยยิ้มของชาวบ้านสามารถที่จะยกระดับคุณภาพชีวิต ของชาวบ้านได้ นี่คืออีกหนึ่งของความเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นนายอภิชาต อารีย์พัฒนไพบูลย์ นายอำเภอเกษตรวิสัย กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด ร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ได้เข้ามาดำเนินกิจกรรมในพื้นที่ของบ้านเขวาตะคลอง ตำบลทุ่งทอง อำเภอเกษตรวิสัย เพื่อที่จะมาส่งเสริมในเรื่องของโครงการการแก้ไขปัญหาความยากจนของพี่น้องในพื้นที่ซึ่งวันนี้บ้านเขวาตะคลอง ได้มีการคิดค้นเรื่องของการแก้ไขปัญหาความยากจนโดยคำนึงถึงพื้นที่เป็นหลัก โดยในบริเวณรอบๆหมู่บ้านเขวาตะคลองแห่งนี้ มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 3 เเห่ง ด้วยกัน ไม่เคยแห้ง มีน้ำตลอดทั้งปีทางคณะอาจารย์และทีมงานนักวิจัยได้มีการวิจัยกันว่าพื้นที่ตรงนี้เหมาะแก่การทำการเกษตรด้วยการปลูกผัก จึงได้ส่งเสริมให้พี่น้องเกษตรกรปลูกผักกัน โดยการเชิญชวนให้พี่น้องเกษตรกรในพื้นที่มาปลูกผักบริเวณนี้ ในพื้นที่กว่า 5 ไร่ มีผักมายมายหลายชนิด เพื่อการบริโภคและการจำหน่ายในชุมชน และการจำหน่ายสู่ท้องตลาด ในพิ้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดใกล้เคียง มีการบริหารจัดการเรื่องระบบเริ่มตั้งแต่การเตรียมแปลง การปลูก กระบวนการบริหารจัดการน้ำ จนสุดท้ายก็คือกระบวนการจำหน่าย โดยจากการสอบถามพ่อค้าแม่ค้ารถสามล้อเครื่องพ่วง ที่มารับผักจากที่นี่พบว่า มารับผักไปขายทุกวันขายได้ประมาณวันละ 3,000 บาทโดยมีกำไรวันละประมาณ 30% ของยอดขาย คือประมาณ 1,000 บาทโดยเฉลี่ยพ่อค้าแม่ค้าจะมีรายได้ประมาณเดือนละ 30,000 บาทต่อคน ซึ่งนับว่าเป็นรายได้มากกว่าเงินเดือนข้าราชการ นับว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของพี่น้องเกษตรกรชาวเขวาตะคลอง ตำบลทุ่งทอง ที่มีการขับเคลื่อนร่วมกับ ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด และเรายังได้มีการวางแผนที่จะขับเคลื่อนเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ของอำเภอเกษตรวิสัยให้ครบทุกหมู่บ้านทุกตำบล
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชัญญรินทร์ สมพร หัวหน้าโครงการวิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด กล่าวว่า โครงการพัฒนาโมเดลแก้จนด้วยเกษตรมูลค่าสูงเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน จังหวัดร้อยเอ็ด ประจำปี พ.ศ. 2567 ได้รับการสนับสนุนทุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนทั้งอำเภอ โดยมีอำเภอเกษตรวิสัยเป็นอำเภอนำร่อง ได้ดำเนินโครงการร่วมกับอำเภอเกษตรวิสัย โดยมี นายอภิชาต อารีพัฒนไพบูลย์ นายอำเภอเกษตรวิสัย และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งนำร่องในพื้นที่ตำบลทุ่งทอง จำนวน 74 ราย และอีกหลายพื้นที่ คือ ตำบลเมืองบัว จำนวน 237 ราย ตำบลเกษตรวิสัย จำนวน 51 ราย ตำบลกู่กาสิงห์ จำนวน 25 ราย ตำบลดงครั่งใหญ่ จำนวน 60 ราย ตำบลกำแพง จำนวน 41 ราย รวมทั้งสิ้น จำนวน 488 ราย ณ บ้านเขวาตะคลอง แห่งนี้ ได้ดำเนินโครงการมากว่า 8 เดือน สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร พืชผักปลอดภัยทุกชนิด ออกสู่ตลาดได้ทุกวัน สร้างรายได้แก่กลุ่มเกษตรกรทั้ง 74 ราย พ่อค้า แม่ค้ารถซาเล้ง สามารถสร้างรายได้ครอบครัว และชุมชน ได้อย่างยั่งยืน
นอกจากกิจกรรมเปิดตัวการนำเสนอโครงการฯ การเยี่ยมชมแปลงผักนานาชนิด มีสวนไม้ดอกสวยงามนานาชนิดรอบแปลงผักเป็นจุดเชคอิน ยังมีกิจกรรมการประกวดการปรุงอาหารรสแซบ รสเด็ด ที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ด้านอาหารของชาวอำเภอเกษตรวิสัย นั่นคือ ลาบวัว และส้มตำ รสแซบ หอมหวน ชวนชิม ด้วยลีลา การตำส้มตำลีลา และการคนลาบ ลีลา(การคน คือการปรุงรส) อย่างสนุกสนานครึ้นเครงตามเพลงเชียร์ ท้าทายการลิ้มลองของคณะกรรมการอีกด้วย

ขอขอบคุณ ภาพและข่าวจาก สวท.ร้อยเอ็ด #RERU #Pr.reru.ac.th #www.reru.ac.th